การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม

คดีประวัติศาสตร์ : กรณีการใช้แรงงานเด็กเยี่ยงทาส

เรื่องราวที่นำเสนอต่อไปนี้ สะท้อนปัญหาของสังคมในหลายมิติ ปัญหาความยากจนที่ทำให้ไม่สามารถส่งลูกเรียน ปัญหาที่ตามมา คือ แรงงานเด็ก ปัญหาการทารุณกรรม ความไร้เมตตาธรรมฯลฯ แต่ท่ามกลางความโหดร้าย ก็ยังมีมือที่หยิบยื่นความช่วยเหลือดูแล ทำให้ใบเตย มีโอกาส เรียนหนังสือ สามารถกลับมาดำเนินชีวิตนักเรียนได้เหมือนกับเด็กอื่นๆในวัยเดียวกัน กระบวนการดูแลใบเตย เป็นตัวอย่างของความมุ่งมั่น สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานร่วมกับทนายความ ต่อสู้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมขึ้น เพราะการตั้งข้อหา ในเบื้องต้นนั้นอยู่เพียงแค่การทำร้ายร่างกายสาหัส ซึ่งสภาพของใบเตยนั้น ใครก็ตามที่พบเห็น ก็เห็นสอดคล้องกันว่าหนักหนา กว่าสาหัสมากมายนัก เรื่องราวของใบเตยที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จึงสร้างประวัติศาสตร์ของการพิพากษาที่เราหวังว่าจะไม่มีเหตุการณ์ที่ต้องให้เกิดคำพิพากษา เช่นเดียวกันนี้อีก 

ชีวิตจริงของเด็กหญิงใบเตย

ใบเตยเกิดมาเป็นลูกสาวคนโต มีพี่น้องทั้งหมด 6 คน พ่อและแม่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป อาศัยอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ ฐานะครอบครัวค่อนข้างยากจน เมื่อใบเตยเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จึงออกหางานทำเพื่อให้มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว หลังจากเธอทำงานก่อสร้างอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้เลิกไปเนื่องจากถูกนายจ้างโกงค่าแรงงานได้มีนายหน้าซึ่งเป็นคนรู้จักมักคุ้นและเป็นผู้อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียง มาพูดคุยชักชวนใบเตย และหว่านล้อมจนแม่ของเธอยอมตอบตกลงให้นายหน้าพาใบเตยเดินทางมารับจ้างทำงานบ้านในกรุงเทพมหานคร ณะที่ทุกคนล้วนตั้งความหวังไว้ว่า ลูกสาววัยสิบสี่ปีของครอบครัวจะเป็นกำลังสำคัญ สามารถทำงานเก็บเงินเพื่อส่งกลับมาช่วยเหลือญาติพี่น้องทางบ้านได้ต่อไปในอนาคต

ทางแคบที่แทบเลือกไม่ได้

ด้วยวัยเพียงน้อยนิด แต่ชีวิตต้องระหกระเหินมาทำงานในเมืองใหญ่ ใบเตยแทบไม่รู้เลยว่า ทางข้างหน้าต่อไปจะเป็นอย่างไร เธอจะต้องพบเจอกับอะไรบ้างที่เธอเคยวาดฝันไว้เรื่องเรียนต่อก็กลับต้องขอใช้ชีวิตช่วงนี้ด้วยการขายแรงงานไปพลางก่อน ตอนนั้นเป็นช่วงเดือน ธันวาคม ปี 2546 ใบเตยได้แต่อธิษฐานขอพรพระ ให้ปีต่อไปมีแต่สิ่งดีผ่านเข้ามาในชีวิต อย่างน้อยเธอเองก็หวังว่า นายจ้างที่เธอจะต้องไปอาศัยอยู่ และทำงานด้วย น่าจะให้ความเมตตาแก่เด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ อย่างเธอตามสมควร

คืนวันดั่งฝันร้าย

ทว่าสิ่งที่รอใบเตยอยู่เบื้องหน้ากลับกลายเป็นฝันร้าย นับจากวันแรกที่เธอมาถึงบ้านพักของนายจ้าง ใบเตยต้องตื่นแต่เช้าตรู่ เพื่อเริ่มงานตั้งแต่เวลาตีสี่ครึ่งถึงเที่ยงคืน นายจ้างให้เธอทำงานหนักทุกวันโดยไม่มีแม้วันหยุดพักผ่อน หน้าที่ส่วนใหญ่คือการทำความสะอาดห้องครัว ห้องน้ำ ห้องนอน หุงข้าว จัดเตรียมอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น เก็บโต๊ะอาหาร นำจานชามไปล้าง ล้างรถยนต์ ซักผ้าทั้งซักด้วยมือและใช้เครื่องซักผ้า นอกจากนี้ยังต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างตามแต่นายจ้างจะสั่งเพิ่มเติม ตลอดเวลาที่ใบเตยทำงานให้นายจ้างนี้ เธอไม่เคยได้รับเงินค่าจ้างด้วยตนเอง เลยสักครั้งเดียวนายจ้างอ้างแต่เพียงว่าได้โอนเงินค่าจ้างเดือนละสองพันบาทไปให้แม่ของเธอแล้ว แต่ ใบเตยก็ไม่เคยรู้ว่าความจริงแล้วแม่ได้รับเงิน บ้างหรือไม่ และเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใด เพราะตลอดเวลาเธอถูกขู่ห้ามไม่ให้หลบหนี หรือติดต่อส่งข่าวคราวไปถึงผู้ปกครอง

หนึ่งปีนรกในเมืองกรุง

ครอบครัวนายจ้างมีสมาชิกทั้งหมด 6 คน ทุกคนดีต่อเตยอยู่บ้าง ยกเว้นนายผู้หญิง ซึ่งเริ่มมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง โดยใช้กำลังประทุษร้าย ทำร้ายร่างกายใบเตยอย่างโหดร้ายทารุณ หลังจากใบเตยเข้ามาทำงานได้เพียงเดือนเศษเท่านั้น ใบเตยเล่าให้เราฟังทั้งน้ำตาว่า “...ทำงานอยู่กับนายจ้างได้ไม่นานเขาก็เริ่มทำร้าย ทุบตี บางทีเขาโมโหมาก ๆ เขาก็เอาเข็มขัดตี บางทีก็เอาโต๊ะที่นั่งกินข้าวเป็นโต๊ะไม้สัก ก็มาตี ที่ร้ายแรงที่สุดเขาก็เรียกมา เขาบอกเราทำงานช้า เขาก็เอาเก้าอี้ฟาดหลัง เขาก็ไม่ให้ร้อง...” พฤติกรรมโหดร้ายของนายจ้างมีทั้งการด่าทอ การทุบตีด้วยมือและเท้า และใช้สิ่งของเช่นเข็มขัดสายหนังหัวเหล็ก เก้าอี้ไม้ เหล็กแป๊บสำหรับใช้ตากผ้า กระบอกไฟฉาย หรือแม้แต่การบังคับให้ใบเตยทำร้ายตนเองก็ตาม “...ให้ตบปากตัวเองให้เลือดออก เขาบอกว่า จะได้ไม่ต้องโกหก เอาหัวโขกพื้นให้ดัง ๆ ด้วย ถ้าไม่ดังเขาจะทำเอง...” ทุกครั้งที่ถูกนายจ้างทำร้าย ใบเตยไม่เคยได้รับการดูแลเอาใจใส่ บาดแผลส่วนใหญ่ปล่อยให้หายเอง ส่วนสภาพความเป็นอยู่ของเธอก็เป็นไปอย่างอดมื้อกินมื้อ นายจ้างให้ใบเตยรับประทานอาหารเพียงวันละหนึ่งหรือสองมื้อตามอำเภอใจของนายจ้าง โดยที่เธอไม่สามารถเรียกร้องใด ๆ “...ให้กินบางทีก็กินข้าวกับพริกป่น บางทีก็กับข้าวที่เหลือจากเขา แต่ส่วนมากกินข้าวกับพริกป่น บางวันก็ไม่ได้กินเลย...” ใบเตยต้องเผชิญกับความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ทำงานในบ้านพักของนายจ้าง ครั้งสุดท้ายที่ถูกทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัส นายจ้างได้นำเธอมาทิ้งไว้ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง และซื้อตั๋วรถไฟให้เธอเดินทางกลับภูมิลำเนาตามลำพัง “...วันนั้นรู้สึกว่าจะมีเทศกาลของเขา ก็มีจานเยอะเลยค่ะ ถ้วยชาม เขาก็ให้หนูล้าง หนูก็ล้างแต่หนูก็ไม่รู้ว่าหลับไปตอนไหน พอเขากลับมาเขาเอาน้ำสาดบอกว่าให้ตื่น แล้วเขาก็เรียกไปนั่งคุย เขาก็โทรศัพท์ไปบ้าน บอกว่าคืนนี้จะส่งหนูกลับบ้าน...” ใบเตยเดินทางกลับถึงบ้านด้วยสภาพร่างกายและจิตใจที่บอบช้ำ แม่จำลูกสาวแทบไม่ได้ และรู้สึกตกใจมากเมื่อเห็นบาดแผลที่ศีรษะและตามเนื้อตัว แม่รีบนำใบเตยเข้าแจ้งความแล้วนำส่งโรงพยาบาล ซึ่งเธอต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาบาดแผลสาหัสบริเวณหลังและศีรษะในทันที

พักฟื้นคืนชีวิตใหม่

หลังจากการพักฟื้นหลังการผ่าตัดไม่นานนัก เจ้าหน้าที่มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กได้เข้าพบและดำเนินการช่วยเหลือ โดยส่งเข้าพักที่บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ที่กรุงเทพมหานคร และเริ่มต้นกระบวนการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจอย่างเป็นระบบ พร้อมเริ่มต้นนำคดีเข้าส ู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อเอาผิดนายจ้างในข้อหากระทำทารุณกรรมร้ายแรง

ช่วยเหลือเพื่อยืนหยัด

กรณีของใบเตยได้รับความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย และเป็นความร่วมมือกันระหว่างหลายหน่วยงาน เริ่มต้นจากเจ้าหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ติดต่อรับใบเตยมาเข้าพักที่ บ้านพักฉุกเฉินของสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ โดยนักสังคมสงเคราะห์ บ้านพักฉุกเฉินได้ดูแลจัดการให้ใบเตยได้เรียนต่อระดับชั้นมัธยมศึกษา ในด้านสภาพจิตใจ นอกจากการพาไปพบจิตแพทย์ โรงพยาบาลศรีธัญญา เป็นระยะเพื่อบำบัดรักษาอาการหวาดกลัวเหตุการณ์เลวร้ายในอดีตแล้ว บ้านพักฉุกเฉิน ยังได้จัดกิจกรรมเสริมทักษะชีวิต การเข้าค่ายสันทนาการ และกิจกรรมทัศนศึกษายังสถานที่ต่างๆ รวมทั้งให้โอกาสอบรมฝึกอาชีพระยะสั้น เช่น หลักสูตรทำขนมอบ และตัดเย็บเสื้อผ้า ท่ ศูนย์การศึกษา และฝึกอาชีพ ของสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯด้วย ในส่วนการดำเนินคดีนั้น บ้านพักฉุกเฉินและมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ได้ประสานงานไปยัง สภาทนายความ เพื่อขอความช่วยเหลือจากทนายความในการดำเนินคดี ซึ่งเป็นคดีที่ต้องต่อสู้พอสมควร แต่ด้วยความมุ่งมั่น อดทน และเข้มแข็งของทนายความที่ทำงานอย่างเต็มที่ จึงทำให้คดีได้รับความเป็นธรรมพอสมควร

จารึกไว้ในคำพิพากษา

ณ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ปลายเดือนเมษายน 2550 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตัดสินให้ การกระทำของนายจ้างเป็นความผิด ลงโทษฐานเอาเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ลงเป็นทาสเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสโดยกระทำ ทารุณโหดร้าย และฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย รวมจำคุก 9 ปี 42 เดือน กับให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ใบเตย เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

คดีนี้นับเป็นคดีประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นคดีแรกของไทย ที่มีคำพิพากษาในความผิดฐานการเอาเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีลงเป็นทาส ตามมาตรา 312 ทวิ วรรค 2 ประกอบมาตรา 312 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 312 ผู้ใดเพื่อจะเอาคนลงเป็นทาส หรือให้มีลักษณะคล้ายทาส นำเข้าในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พามาจากที่ใด ซื้อ ขาย จำหน่าย รับ หรือหน่วงเหนี่ยวซึ่งบุคคลหนึ่งบุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท มาตรา 312 ทวิ ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 310 ทวิ หรือมาตรา 312 เป็นการกระทำต่อเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก หรือมาตรา 310 ทวิ หรือมาตรา 312 เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำ (1) รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปีและปรับไม่เกินสามหมื่นบาท (2) รับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี (3) ถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี

สู่ฝันอันยิ่งใหญ่

ปัจจุบัน ใบเตยยังคงอยู่ในความดูแลของบ้านพักฉุกเฉิน เธอกำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีและ มีความสนใจกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม“...อยากขอบคุณบ้านพักฉุกเฉินที่ได้ให้โอกาสหนู ได้มอบสิ่งที่ดี ๆ ให้หนู หนูอยากทำงาน ที่ช่วยเหลือผู้หญิงและเด็ก เป็นอีกมุมหนึ่งของชีวิต อยากช่วยเขาให้เขาดีขึ้น ให้เขาได้รับโอกาสเหมือนที่หนูได้รับโอกาสนี้...”

บ้านพักฉุกเฉิน สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ
โทร 02 929 2222